
ในโลกออนไลน์ ไม่มีอะไรที่เราสามารถเชื่อใจไปได้ทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่มีเงินเข้ามาเกี่ยวข้องมักเกิดการฉ้อโกงหรือหลอกลวงได้ง่าย ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพได้เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการโกงที่ทำให้ได้เงินมาง่าย ๆ จากการหลอกขายบัตรคอนเสิร์ตให้กับกลุ่มแฟนคลับ
นี่จึงเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน เพราะกฎหมายในประเทศไทยยังไม่มีครอบคลุมและยังไม่มีโทษที่จัดการกับกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้เฉพาะเจาะจง แต่ถ้าให้มองดูจริงจังนี่ถือเป็นเหมือนการฉ้อโกงและหลอกลวงทั่วไป ที่เราจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับของ ฉะนั้นหลาย ๆ คนจึงมีความหวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็นข้อกฎหมายที่เอาผิดคนเหล่านี้จริงจังสักที อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการเอาผิดกับคนเหล่านี้ได้ แต่ตัวผู้ซื้อเองก็ควรรู้เท่าทันมิจฉาชีพเหล่านี้ด้วย
ผู้ขายจะสร้างแอคเคาท์ขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นจะโพสต์ขายบัตรคอนเสิร์ต โดยติดแฮชแท็กเกี่ยวกับคอนเสิร์ตนั้น ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา เมื่อก่อนคนที่โกงมักขายบัตรคอนในราคาถูก แต่ตอนนี้ยิ่งคอนเสิร์ตไหนมีคนสนใจเยอะ พวกมิจฉาชีพจะยิ่งตั้งราคาสูงขึ้น 1-2 เท่า ถามว่ามีคนซื้อไหมแน่นอนว่ามีคนซื้อแน่นอน หลังจากนั้นคนที่สนใจจะแห่ไปติดต่อผ่านกล่องข้อความ หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า Direct Messages นั่นเอง เมื่อดีลราคาเสร็จไปสู่ขั้นตอนชำระค่าบัตรคอนเสิร์ต พวกกลุ่มมิจฉาชีพจะบล็อคคุณ หรือไม่ก็หายไปเลยติดต่อไม่ได้ รวมถึงปิดแอคเคาท์นั้นไปด้วย นี่คือวิธีการโกงของคนเหล่านี้ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการได้เงินที่ง่ายมาก ๆ
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ทุกคนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเหล่า วันนี้เรามีวิธีการจัดการกับคนโกง เมื่อถูกโกงบัตรคอนเสิร์ตมีวิธีอะไรบ้าง ตามมาดูกัน
ก่อนโอนเงินซื้อบัตรคอนต้องทำอย่างไรบ้าง
ก่อนที่เราจะซื้อให้ดูชื่อแอคเคาท์ก่อน เคยเป็นแอคเคาท์ที่โกงไหม มีคนติดตามเท่าไร ซึ่งถ้าเป็นแอคเคาท์ที่เปิดใหม่ยิ่งเสี่ยงมาก ๆ อันนี้ไม่แนะนำให้ซื้อบัตรต่อนะคะ เพราะเสี่ยงถูกโกงมาก ๆ นอกจากนี้ดูวิธีการจัดส่งบัตรคอนเสิร์ตด้วยว่านัดรับหรือส่งผ่านไปรษณีย์
- หากนัดรับ แนะนำให้จ่ายเงินแบบมัดจำครึ่งหนึ่งของราคาบัตรที่ตกลงกัน อย่าโอนเงินเต็มจำนวน
- จัดส่งไปรษณีย์ อันนี้มีความเสี่ยงมาก ๆ เราไม่รู้ว่าคนขายจะส่งอะไรมาให้ ตรงนี้อาจต้องใช้ความรอบคอบด้วย

สิ่งสำคัญที่ควรขอจากคนขายบัตรคือ บัตรประชาชนของคนขาย ซึ่งต้องตรงกับชื่อบัญชีธนาคารที่เราต้องทำการโอนเงิน นอกจากนี้สามารถนำชื่อ หรือเลขประจำตัวประชาชนของคนขายบัตรไปค้นหาเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ www.blacklistseller.com ได้ด้วย และสามารถค้นหาชื่อคนโกงได้เช่นกัน โดยพิมพ์ว่า ‘ชื่อคนโกง’, ‘#ชื่อคอนเสิร์ต โกง’, หรือค้นหาด้วยการนำชื่อ-นามสกุลของคนขาย เป็นต้น หากพบว่าเป็นหนึ่งในรายชื่อคนโกงอย่าซื้อบัตรต่อเด็ดขาด
หลังจากโอนเงินซื้อบัตรคอนจากผู้อื่นแล้วทำอย่างไร
เก็บหลักฐานการโอนเงิน เก็บหน้าจอแชทที่พิมพ์กับเจ้าของบัตร หน้าแอคเคาท์ และสำคัญที่สุดบัตรประชาชนจากเจ้าของแอคเคาท์ หรือหลักฐานการยืนยันตัวตน
ถูกโกงบัตรคอนเสิร์ตทำอย่างไร?
เมื่อรู้แน่ ๆ ว่าถูกโกงหรือคนขายไม่มีความเคลื่อนไหวเลย ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แนะนำให้นำหลักฐานทุกอย่างที่มีไม่ว่าเป็นหลักฐานการโอนเงิน แชทที่ได้พูดคุยกันไป หน้าแอคเคาท์ บัตรประจำตัวประชาชน รูปบัตรคอนเสิร์ต หน้าโพสต์ขายบัตรคอน เป็นต้น ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ขอแจ้งความดำเนินคดีกับบุคคลนั้น หลังจากนั้นนำเอกสารที่ใช้แจ้งความไปให้ธนาคารที่ได้แจ้งโอนไป ทางธนาคารจะตรวจสอบและทำการอายัดบัญชีของโจร และจะทำการประสานไปยังบริษัทผู้ให้บริการ E-Wallet ด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลของคนร้าย สำหรับใช้ติดตามตัวคนร้ายมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ผู้แจ้งความอย่าลืมติดตามผลจากตำรวจด้วย